Self-Awareness รากฐานของการพัฒนา Emotional Intelligence (EQ)

Self-awareness เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ Emotional Intelligence (EQ) เพียงแต่ว่าคุณรู้จักและเข้าใจ Self-awareness ดีแล้วหรือยัง?
Self-Awareness รากฐานของการพัฒนา Emotional Intelligence (EQ)
Photo by ThisisEngineering RAEng / Unsplash

หลาย ๆ ท่านคงทราบดีว่า ความฉลาดทางอารมณ์หรือ Emotional Intelligence (EQ) เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงาน คนที่มี EQ สูง นอกจากจะเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีแล้ว พวกเขายังอ่านบรรยากาศและเข้าใจความเป็นไปของคนรอบข้างได้อีกด้วย

EQ มีองค์ประกอบ 5 อย่าง และ 1 ในนั้นคือ Self-awareness หรือการตระหนักรู้ในตัวเอง งานวิจัยพบว่า คนที่มี Self-awareness จะเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจได้ดีขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นพนักงานที่มี Self-awareness จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า และผู้นำหรือหัวหน้าที่มีทักษะนี้ก็จะบริหารทีมได้ดี ทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจกับงานมากขึ้นและสร้างผลกำไรแก่องค์กรได้มากกว่า

Self-awareness จึงเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในทุกองค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ เพียงแต่ว่าคุณรู้จักและเข้าใจ Self-awareness ดีแล้วหรือยัง?

Self-awareness คืออะไร?

การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้และเข้าใจ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งที่เราให้คุณค่า รวมถึงเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเราหรือพฤติกรรมของเราอย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถประเมินจุดแข็งและโอกาสเพื่อนำไปพัฒนาตนเองต่อไปได้ โดยที่เราสามารถแบ่งการตระหนักรู้ตนเองออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.การตระหนักรู้ภายใน (Internal Self-awareness)

หมายถึง การมองเห็นหรือการเข้าใจว่าเรามีตัวตน ความคิด ความรู้สึก หรือให้คุณค่ากับสิ่งใดและสิ่งเหล่านี้มีผลต่อคนอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

การตระหนักรู้ประเภทนี้จะช่วยให้เราเข้าใจ รวมถึงเท่าทันความคิด ความรู้สึก หรืออารมณ์ของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเราเข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไรและสาเหตุมาจากไหน ทำให้สามารถจัดการและรับมือกับอารมณ์นั้น ๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน หากเราขาดการตระหนักรู้ภายใน เราอาจระบุที่มาของความรู้สึกผิดพลาด จนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดได้ เช่น พาลโมโหใส่เพื่อนร่วมงาน เพราะเข้าใจว่าเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เราโกรธ ทั้งที่จริงแล้วการจราจรอันวุ่นวายหรือผู้คนที่เบียดเสียดบนรถไฟฟ้าต่างหากที่ทำให้เราหงุดหงิด เป็นต้น

2.การตระหนักรู้ภายนอก (External Self-awareness)

หมายถึง การมองเห็นหรือการเข้าใจว่าตัวตนของเราเป็นแบบไหนในมุมมองของคนอื่น ๆ

การตระหนักรู้ประเภทนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ได้มากขึ้น ว่าเพราะอะไรเขาถึงทำเช่นนี้ เปรียบเสมือนการได้รับ Feedback จากคนรอบข้าง ว่าเขามองพฤติกรรมหรือว่าความคิดของเราอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

หน้าตาของ Self-awareness เป็นอย่างไร?

เรามีตัวอย่างสถานการณ์มาบอกเล่าเพื่อช่วยให้คุณเห็นภาพของการใช้ Self-awareness ในชีวิตประจำวันและในที่ทำงาน

ตัวอย่างที่ 1

เจ ต่อสู้กับการทำรายงานประจำไตรมาสและผลลัพธ์ที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายบ่อยครั้ง เขาสังเกตและรู้สึกถึงว่า มาตรฐานของเขากับผลงานที่ทำได้ไม่สมดุลกัน เขาจึงประเมินตัวเองเพื่อระบุสาเหตุและกำหนดวิธีที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น

เจ ถามตัวเองว่า อะไรทำให้งานที่ทำนั้นยากสำหรับเขา และเขาพบว่าเขาไม่ได้มีปัญหากับการทำงานให้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ แต่มีปัญหากับการเขียนรายงานให้ลื่นไหลและอ่านเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน เจจึงตัดสินใจลงเรียนคอร์สพัฒนาการเขียน และขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยอ่านและให้ Feedback ก่อนจะส่งงาน รวมทั้งยังพัฒนาแบบฟอร์มรายงานไว้สำหรับใช้งานในอนาคต เพื่อที่รายงานจะได้มีข้อมูลสำคัญครบถ้วนและเขาไม่ทำผิดพลาดซ้ำในครั้งต่อ ๆ ไป

ตัวอย่างที่ 2

จูน มีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ซึ่งทำให้เธอต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า เธอรู้สึกว่าเก่งไม่พอและไม่พร้อมคว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะความคิดนี้ขัดขวางเธอไว้ เธอจึงเลือกปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างการตระหนักรู้ในตนเอง

หลังจากมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา ในแว่บแรกเธอคิดว่าไม่อยากทำและคิดที่จะปฏิเสธโอกาสนั้นไป แต่หลังจากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญบ่อยครั้งและได้เรียนรู้วิธีการสร้างการตระหนักรู้แก่ตนเอง เธอก็เข้าใจว่า เป็นตัวเธอเองนั่นแหละที่บอกกับตัวเองว่าไม่อยากรับโอกาสที่เข้ามาหา เพราะกังวลว่าเธอจะทำได้ไม่ดีพอและเธอไม่เก่งเพียงพอ

จูนจึงย้ำกับตัวเธอเองว่า เราเก่งพอ เราดีพอ และถามย้อนกลับไปอีกว่า “ถ้าหากมันไปได้สวยละ?” แทนที่จะถามว่า “ถ้าชั้นทำมันพังละ?” อย่างที่เคยเป็นมา เมื่อตระหนักรู้ถึงความคิดความรู้สึกของตัวเอง จูนจึงเปิดรับโอกาสที่ผ่านเข้ามา โดยใช้ความตระหนักรู้ (Self-awareness) และความรักตัวเอง (Self-love) เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตและก้าวหน้าต่อไป

ร่วมฝึกฝนและพัฒนา EQ ของทุกคนในองค์กรไปกับ Happily.ai

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

แล้วจะพัฒนา Self-awareness ได้อย่างไร?

เฉกเช่นเดียวกันกับทุกทักษะ Self-awareness สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ นอกจากนี้การตระหนักรู้ในตนเองยังเป็นก้าวแรกของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ อีกด้วย นั่นก็เพราะหากคุณรู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของคุณเอง คุณก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น นั่นคือนำไปสู่ Self-regulation องค์ประกอบที่ 2 ของ EQ นั่นเอง

ดังนั้นทั้งผู้นำ ผู้จัดการ และพนักงานทุกคนจึงต้องเพิ่มและพัฒนาการตระหนักรู้ในตนเองเพื่อประโยชน์แก่ตัวพนักงานและองค์กร เราจึงขอแนะนำวิธีการและเครื่องมือในการพัฒนา Self-awareness ดังต่อไปนี้

1. ทำความเข้าใจตัวเองผ่านแบบทดสอบต่าง ๆ

1. แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 Personalities: แบบทดสอบจะช่วยให้เราเข้าใจว่าพฤติกรรมของเราเป็นอย่างไรและสามารถส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างได้อย่างไรบ้าง

2. Self-awareness quiz ของ Tasha Eurich: แบบทดสอบนี้ช่วยให้เราเห็นและเข้าใจว่าเรามี Self-awareness มากน้อยขนาดไหน โดยแบบทดสอบนี้ใช้เวลาเพียง 5 นาที และยังแนะนำวิธีการพัฒนาที่สามารถทำได้ด้วยตนเองทันทีด้วย

2. สอบถาม Feedback จากคนรอบตัว

ถาม Feedback จากครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงานเพื่อทำการสำรวจและทำความเข้าใจว่า พฤติกรรม อารมณ์และความรู้สึกของเรามีผลต่อคนรอบข้างอย่างไรบ้าง

3. เขียนบันทึก (Journal) เพื่อสะท้อนและสำรวจตัวตน

นำข้อมูลที่ได้จากแบบทดสอบและ Feedback จากคนรอบข้างทั้งหมดมาเขียน Journal เพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทั้งความรู้สึกนึกคิดของเรา อารมณ์ที่เกิดขึ้นและวิธีรับมือของเราต่อเหตุการณ์นั้น ๆ

การเขียน Journal ช่วยให้เราเห็นภาพของตัวเราและอารมณ์ของเราเองได้ชัดเจนขึ้น เมื่อเราเขียนทบทวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราเห็นรูปแบบ (Pattern) ของบางสิ่งบางอย่างที่นำไปสู่ความเครียดและความกังวลของเราได้

อันที่จริงหลักคิดของ Self-awareness มีความคล้ายคลึงกับเรื่อง “สติ” หรือ “การอยู่กับปัจจุบัน” ที่คนไทยได้ยินกันมาตั้งแต่เล็กด้วย และที่จริงแล้วการนั่งสมาธิก็ช่วยเรื่องการตระหนักรู้ตัวเองด้วยเช่นกัน

สรุป

Self-awareness คือทักษะที่เป็นฐานรากของ EQ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เมื่อคุณตระหนักรู้และรู้เท่าทันความคิดความรู้สึกของตนเองแล้ว คุณก็จะมองเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ควบคุมอารมณ์และจัดการอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น ทำงานกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นและใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นองค์กรที่ผู้นำและพนักงานมี Self-awareness สูง ก็จะสร้าง Productivity และ Performance ได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง


เราช่วยคุณได้นะ

Happily.ai ช่วยองค์กรสร้างโอกาสในการฝึกฝนความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ อาทิ Self-awareness และ Empathy ผ่านการตอบคำถามและให้ Feedback รายวัน ไม่มีทางลัดใดในการพัฒนา EQ ให้แก่ทุกคนในองค์กร แต่เราช่วยคุณประกอบชิ้นส่วนสำคัญเข้าด้วยกัน (ภายในไม่กี่วัน ไม่ใช่หลักเดือน!) เราขอเชิญคุณเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราเพื่อเรียนรู้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่ทำงานของคุณ ให้ความสำคัญกับ EQ ได้ตั้งแต่วันนี้!

แหล่งอ้างอิง:

https://blog.happily.ai/th/emotional-intelligence-important-key-for-leaders-th/

https://www.emerald.com/insight/content/doi/10.1108/EJTD-04-2015-0031/full/html

https://guilfordjournals.com/doi/abs/10.1521/jscp.23.4.475.40307

https://hbr.org/2018/01/what-self-awareness-really-is-and-how-to-cultivate-it

https://www.jstor.org/stable/20152338?seq=1#page_scan_tab_contents

https://positivepsychology.com/self-awareness-matters-how-you-can-be-more-self-aware/#importance

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!