วัดผลการมีส่วนร่วมต่อองค์กรของพนักงาน และค้นหาพนักงานที่มีผลการทำงานที่โดดเด่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย "การให้ฟีดแบ็ก"

การศึกษาข้อมูลของเราพบว่า พนักงานที่ให้ฟีดแบ็ก (Feedback) ที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอนั้น มักเป็นคนเดียวกันกับพนักงานที่สามารถสนับสนุนการทำงานภายในทีมและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกด้วย
วัดผลการมีส่วนร่วมต่อองค์กรของพนักงาน และค้นหาพนักงานที่มีผลการทำงานที่โดดเด่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย "การให้ฟีดแบ็ก"

การศึกษาข้อมูลของเราพบว่า พนักงานที่ให้ฟีดแบ็ก (Feedback) ที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอนั้น มักเป็นคนเดียวกันกับพนักงานที่สามารถสนับสนุนการทำงานภายในทีมและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกด้วย

ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน องค์กรจำเป็นจะต้องกลับมาพิจารณาแผนการดำเนินงานและกระบวนการในการทำงานของพวกเขาใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะยังสามารถผลักดันธุรกิจให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ หลายองค์กรจำเป็นต้องปรับขนาดหรือโครงสร้าง หรือเลือกลดรายจ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การรักษาพนักงานที่มีผลงานการทำงานที่โดดเด่นคือสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกอย่าง McKinsey & Co พบว่าคนเก่งที่มีผลงานโดดเด่นภายในองค์กรจะมีผลิตภาพในการทำงาน (Productivity) สูงกว่าพนักงานทั่วไปถึง 8 เท่าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังมาพร้อมกับทักษะการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่า ทั้งยังผูกพันต่อองค์กรมากกว่า และมีความสามารถมากพอที่จะพาธุรกิจฝ่าความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ทำอย่างไร เราถึงจะสามารถค้นหาพนักงานที่มีผลงานการทำงานที่โดดเด่นเช่นนี้ได้ในวิถีองค์กรปัจจุบัน

ก่อนอื่นใด เราจำต้องยอมรับว่าเราตัดสินใจในหลายเรื่องจากสิ่งที่เรามองเห็น คนเก่งที่มีทักษะเฉพาะในการทำตัวเองให้เป็นที่ยอมรับจึงมักได้รับความสนใจและมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งมากกว่า ในขณะที่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องอยู่เบื้องหลังต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะสร้างประโยชน์สำคัญๆ ให้กับองค์กร แต่ไม่คิดที่จะทำตัวเองให้โดดเด่นเหมือนคนกลุ่มแรก บทความของ Forbes นำเสนอกระบวนการที่น่าสนใจในการค้นหาคนเก่งที่มีพรสวรรค์ภายในองค์กรของคุณ ซึ่งประกอบด้วย 1. เชื่อในวิทยาศาสตร์ 2. ใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ 3. มองหาภาวะผู้นำ 4. ให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพ (Personality) 5. รู้จักใช้เครื่องมือ 6. เริ่มกระบวนการให้เร็วที่สุด

ที่ Happily.ai เราใช้การวิเคราะห์เชิงสัมพันธ์ (Relational Analytics) กับข้อมูลการชื่นชมยอมรับ (Recognition) และการให้ฟีดแบ็ก เพื่อเสาะแสวงหาและรวมถึงทำความเข้าใจคนเก่งที่มีพรสวรรค์ จากการศึกษาข้อมูล เราพบความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่าง พนักงานที่มีการแบ่งปันฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมอ กับพนักงานที่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานให้การยอมรับว่าเป็นพนักงานที่มีผลงานที่โดดเด่น

การศึกษาข้อมูลและผลลัพธ์

ข้อสันนิษฐาน: พนักงานที่มีการแบ่งปันฟีดแบ็กที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ มักจะเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้วยเช่นกัน

เราทำการสำรวจพนักงานจำนวน 551 คนจากทั้งหมด 3 บริษัท โดยข้อมูลการชื่นชมยอมรับ (Recognition) จะช่วยบอกถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างผลงาน (Contribution) ของพนักงานที่มีต่อองค์กร และต่อเพื่อนร่วมงานของพวกเขา การชื่นชมยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน (Peer-to-Peer Recognition) จะเป็นตัววัดความมีประสิทธิภาพของโครงข่าย (Network Effectiveness) ซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกว่าพนักงานคนนั้นมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนงานต่อเพื่อนร่วมงานของพวกเขามากเพียงใด และอีกสิ่งที่พิจารณาคือ การชื่นชมยอมรับจากหัวหน้าที่พนักงานคนนั้นขึ้นตรงด้วยในสายงาน (Direct Manager) ที่จะเป็นตัววัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งหัวหน้าจะทำหน้าที่ประเมินผลงานหรือการมีส่วนร่วมให้เกิดผลงานที่พนักงานคนนั้นมีต่อองค์กร โดยอิงจากตำแหน่งหรือตัวงานที่พวกเขาได้รับมอบหมาย

การศึกษาข้อมูลทำการแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 4 กลุ่มหลัก โดยใช้เกณฑ์หลักในการแบ่งคือ ลักษณะการชื่นชมยอมรับที่พนักงานคนนั้นได้รับ:

กลุ่มที่ 1: ได้รับการชื่นชมยอมรับทั้งจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอยู่ในระดับต่ำ

กลุ่มที่ 2: ได้รับการชื่นชมยอมรับจากเพื่อนร่วมงานอยู่ในระดับต่ำ แต่ได้รับการชื่นชมยอมรับจากหัวหน้าอยู่ในระดับสูง

กลุ่มที่ 3: ได้รับการชื่นชมยอมรับจากเพื่อนร่วมงานอยู่ในระดับสูง แต่ได้รับการชื่นชมยอมรับจากหัวหน้าอยู่ในระดับต่ำ

กลุ่มที่ 4: ได้รับการชื่นชมยอมรับทั้งจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอยู่ในระดับสูง

คนเก่งที่มีพรสวรรค์ในกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการชื่นชมยอมรับทั้งจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอยู่ในระดับสูงนั้น คือพนักงานที่ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีผลการทำงานที่โดดเด่น พวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี และยังมีประโยชน์และคอยสนับสนุนเพื่อนร่วมงานของพวกเขาอีกด้วย

Talent types

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการให้ฟีดแบ็กยังทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับความกระตือรือร้นของพนักงานแต่ละคนในการให้ฟีดแบ็กกับหัวหน้าและองค์กรของเขา Happily มอบโอกาสและพื้นที่ให้กับทุกคนในองค์กรได้แบ่งปันฟีดแบ็กผ่านแบบสำรวจความสุขรายวัน (Daily Check-ins) ที่พนักงานสามารถเข้าไปทำได้ตามความสมัครใจ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังทำการศึกษาการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพ ซึ่งคือฟีดแบ็กที่ละเอียด ครบถ้วน เป็นฟีดแบ็กที่ผู้ให้กลั่นออกมาด้วยความตั้งใจอย่างแท้จริง

แผนภูมิด้านล่างบ่งบอกถึงเปอร์เซ็นต์จากผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมต่อไปนี้:

1. มีการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ (มากกว่าหรือเท่ากับ 4 ครั้งต่อเดือน)

2. มีการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพ แต่ไม่สม่ำเสมอ (มากกว่า 0 ครั้ง แต่น้อยกว่า 4 ครั้งต่อเดือน)

3. ไม่มีประวัติการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพ

ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่อยู่ในกลุ่มที่ 4 หรือกลุ่มที่มีผลงานที่โดดเด่นนั้น มักมีการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าพนักงานในกลุ่มที่ 1 สูงถึง 20 เท่าด้วยกัน โดยในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้การชื่นชมยอมรับทั้งจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าในระดับต่ำ มักไม่มีการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพเท่าที่ควร

พนักงานที่มีการให้ฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมอจะอยู่ในกลุ่มที่ 3 หรือ 4 ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ คือกลุ่มของคนที่ได้รับการชื่นชมยอมรับจากเพื่อนร่วมงานอยู่ในระดับสูง แสดงให้เห็นว่า พนักงานที่ได้รับการชื่นชมยอมรับมากกว่า ก็จะมีโอกาสที่พวกเขาให้ฟีดแบ็กมากกว่าด้วยเช่นกัน ซึ่งผลลัพธ์จากการศึกษาของเราสอดคล้องกับบทความเรื่อง “Public Recognition Is A Greater Driver Of Psychological Safety” (การได้รับการชื่นชมยอมรับในที่สาธารณะคือตัวขับเคลื่อนสำคัญของความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา) ที่เขียนโดย Rob Peters การชื่นชมยอมรับที่พนักงานได้รับจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวัฒนธรรมองค์กร ผ่านการสร้างโครงข่ายของความสัมพันธ์ภายในองค์กร (Relationship Capital) การตระหนักในความรับผิดชอบ (Commitment) และความมีส่วนร่วมต่อองค์กร (Engagement) ที่มากขึ้น และเมื่อพนักงานรู้สึกสบายใจ และคุณค่าของพวกเขาได้รับการมองเห็น พวกเขาจะทำประโยชน์ให้กับองค์กรอย่างมหาศาล

สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนคนเก่งที่มีพรสวรรค์ภายในองค์กรของคุณ

ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานที่มีผลงานโดดเด่นและพนักงานที่ให้ฟีดแบ็กที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่มีผลงานโดดเด่นรู้สึกมีส่วนร่วมกับการให้ฟีดแบ็กมากกว่า หรือเป็นโอกาสของการแบ่งปันฟีดแบ็กช่วยสร้างคนเก่งขึ้นมาภายในองค์กรก็ตาม จากการศึกษาและวิจัยพอจะบอกเราได้ว่า เราจำเป็นจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ใช่และเหมาะสมต่อการเติบโตของคนเก่งที่มีพรสวรรค์ภายในองค์กร ด้านล่างนี้คือ 6 วิธีการที่คุณในฐานะหัวหน้างาน, ผู้จัดการ, หรือผู้นำองค์กรจะช่วยสนับสนุนพวกเขาได้

1. เสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) — หลายครั้งเมื่อเกิดปัญหา เรามักจะกวาดสายตาเพื่อหาคนผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การคำนึงถึงความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจทำให้เราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับคำถามที่ว่า “เพราะอะไร” แทนที่จะเป็น “เพราะใคร” รวมถึงหาวิธีการแก้ไขที่เน้นย้ำให้เห็นว่า เราจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ได้ “อย่างไร”

2. มอบโอกาสในการพัฒนาทางสายงานอาชีพ (Professional Development) — เสริมประสิทธิภาพพนักงานของคุณผ่านการสร้างฐานความรู้ หรือมอบทักษะผ่านหลักสูตรการอบรม เพราะโอกาสในการเสริมสร้างทักษะความสามารถจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจในที่ทำงาน และผลักดันให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมต่อองค์กรมากขึ้น

3. เพิ่มการมีส่วนร่วมต่อองค์กร (Engagement) ของพนักงาน — เคียงข้างทีมของคุณในทุกการตัดสินใจ สร้างโอกาสในการแบ่งปันฟีดแบ็กภายในทีม เพราะคนเก่งที่มีความกระตือรือร้นและเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรจะเข้าใจเป้าหมายขององค์กรได้อย่างลึกซึ้ง และยังมองเห็นภาพว่าพวกเขาเป็นฟันเฟืองสำคัญของความสำเร็จนั้นได้อย่างไร

4. เปิดใจยอมรับฟีดแบ็ก (Feedback) ที่ตรงไปตรงมา — อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าพนักงานของคุณรู้ว่าตัวคุณพร้อมจะเปิดใจรับฟังฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาได้มากขนาดไหน เพราะฉะนั้น คุณจึงควรสื่อสารต่อลูกทีมหรือเพื่อนร่วมงานให้พวกเขาเข้าใจถึงความเปิดกว้างต่อฟีดแบ็กของคุณ และอย่าลืมรับทราบถึงฟีดแบ็กที่คุณได้รับมาด้วยเช่นกัน

5. ส่งเสริมการชื่นชมยอมรับกัน (Recognition) ในองค์กร — เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานด้วยการแบ่งปันความสำเร็จ และเปิดพื้นที่ให้พนักงานสามารถแบ่งปันคำชื่นชมให้กับเพื่อนร่วมงานของพวกเขาได้อย่างอิสระ เพราะเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะผลักดันให้หัวหน้างานหรือผู้จัดการในองค์กรมีความกระตือรือร้นในการชื่นชมยอมรับพนักงานภายในทีมที่มีผลงานการทำงานที่โดดเด่น และตระหนักถึงความพยายามและการกระทำ มากกว่ามองไปที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว

6. ดูแลเอาใจใส่ความผ่อนคลายในการทำงาน (Wellness) ของพนักงาน — ใส่ใจต่อความผ่อนคลายของพนักงานในสถานที่ทำงาน หากเป็นไปได้ จัดการทำงานให้มีความยืดหยุ่น หรือเมื่อพนักงานรู้สึกอ่อนล้าจากภาระงานที่มากเกินไป ให้คุณช่วยพวกเขาจัดลำดับความสำคัญของการทำงานใหม่

Supportive environment for talent

บทสรุป

คนเก่งที่มีพรสวรรค์คือเพชรล้ำค่าในองค์กร ธุรกิจจะเติบโตและมั่นคงอยู่ได้ด้วยความสามารถในการค้นหา ฟูมฟักและรักษาพนักงานที่มีความสามารถในการทำงานที่โดดเด่น ผลลัพธ์จากการศึกษาข้อมูลของเราแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการให้ฟีดแบ็กอย่างกระตือรือร้นกับการเป็นพนักงานที่มีผลงานโดดเด่น ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่สนับสนุนว่า ฟีดแบ็กและการชื่นชมยอมรับคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมต่อองค์กรของพนักงาน และการสร้างคนเก่งที่มีพรสวรรค์ภายในองค์กรขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโตของพนักงานนั่นเอง

ที่ Happily.ai เราช่วยให้องค์กรต่างๆ สร้างวัฒนธรรมของการให้ฟีดแบ็กและการชื่นชมยอมรับในทุกระดับ การวิเคราะห์เชิงสัมพันธ์ (Relational Analytics) ผนวกด้วยข้อมูลเชิงลึกช่วยให้เราค้นหาคนเก่งที่มีผลการทำงานที่โดดเด่น และได้รับการมองเห็นจากทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานของพวกเขา อีกทั้งเรายังมีเครื่องมือหลากหลายที่จะช่วยให้หัวหน้าหรือผู้จัดการ และพนักงานของคุณสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่จะพัฒนาการมีส่วนร่วมต่อองค์กร (Engagement) และผลักดันองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม อย่ารีรอที่จะเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.mckinsey.com/business-functions/organization/our-insights/attracting-and-retaining-the-right-talent

[2] https://www.forbes.com/sites/tomaspremuzic/2017/07/05/how-to-identify-the-hidden-gems-in-your-organization/?sh=519af2586416

[3] https://medium.com/@standardoftrust/public-recognition-is-a-greater-driver-of-their-psychological-safety-b8ecdfb86c8b

[4] https://sparkbay.com/en/culture-blog/employee-retention-stategies-2

[5] Photo by Marten Newhall on Unsplash

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!