วิธีรักษาพนักงานใหม่ในยุค Hybrid

อัตราการลาออกของพนักงานมากถึง 20% นั้นเกิดขึ้นภายใน 45 วันแรกของการจ้างงาน วิธีที่จะรักษาพนักงานใหม่ไว้กับองค์กรได้ดีที่สุดนั้นก็คือการมี Onboarding ที่มีประสิทธิภาพ
วิธีรักษาพนักงานใหม่ในยุค Hybrid
Photo by Jacqueline Munguía / Unsplash

ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึง Talent Retention หรือการรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กร เพราะยิ่งการสรรหาบุคลากรทำได้ยากขึ้นเท่าไร การรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กรได้จะถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้นเท่านั้น ในช่วงเวลานี้ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้นำองค์กรและผู้จัดการเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งเกิดขึ้นบ่อยมากยิ่งขึ้นและยากที่จะแก้ไข นั่นก็คือการลาออกของพนักงานใหม่ จากการศึกษาของ Forbes พบว่าอัตราการลาออกของพนักงานมากถึง 20% นั้นเกิดขึ้นภายใน 45 วันแรกของการจ้างงาน ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้นำองค์กรและผู้จัดการควรให้ความสำคัญกับวันแรก ๆ ในการทำงานของพนักงานใหม่ให้มากขึ้น

การ Onboarding พนักงานใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

จากบทความของ Ron Carucci ใน Harvard Business Review ได้นำเสนอว่า วิธีที่จะรักษาพนักงานใหม่ไว้กับองค์กรได้ดีที่สุดนั้นก็คือการมีการต้อนรับและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานใหม่ หรือ Onboarding ที่มีประสิทธิภาพ โดยได้แบ่งขั้นตอนการ Onboarding ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Organizational Onboarding (ทางองค์กร) Technical Onboarding (ทางเทคนิค) และ Social Onboarding (ทางสังคม)

Organizational Onboarding

Organizational Onboarding เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานใหม่ในเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการทำงานในองค์กร ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับงานของพนักงานโดยตรง ผู้นำหรือผู้จัดการจะต้อง

  • บอกพนักงานใหม่ถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานในแต่ละวัน เช่น รับบัตรประจำตัวพนักงานได้จากใคร จอดรถได้ที่ไหน แนะนำสถานที่ต่าง ๆ ในออฟฟิศ วิธีลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ และให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบและนโยบายขององค์กร
  • สอน "คำศัพท์" หรือคำย่อที่คนส่วนใหญ่ในบริษัทใช้กันในที่ทำงานให้พนักงานทราบ โดยอาจจะแจก รายการอธิบายความหมายของคำศัพท์เฉพาะเหล่านี้ ให้กับพนักงานได้อ่านและศึกษาข้อมูลในเบื้องต้น
  • ช่วยให้พนักงานใหม่ปรับตัวเข้ากับค่านิยมและแนวทางการปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานขององค์กร โดยเฉพาะในเดือนที่ 3, 6 และ 9 ของการทำงานของพนักงานใหม่ ผู้จัดการจะต้องพูดคุยกับพนักงานเกี่ยวกับประวัติและแบรนด์ขององค์กร วิธีวัดผลการปฏิบัติงาน วิธีในการให้รางวัล และโอกาสในการเติบโต ผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่ดีขององค์กรก็ควรมีโอกาสในการติดต่อพูดคุยกับพนักงานใหม่เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและวิธีในการปฏิบัติตามค่านิยมขององค์กร

Technical Onboarding

Technical Onboarding เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานใหม่ในเรื่องของการใช้ความรู้และทักษะที่พวกเขามีในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่ผู้นำหรือผู้จัดการจะต้อง

  • กำหนดว่าการทำงานที่ดีเป็นอย่างไร โดยการให้รายละเอียดงานที่บอกถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและขอบเขตการทำงานที่พวกเขาควรทราบ ซึ่งรวมไปถึงอิสระในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของการทำงาน
  • จัดตารางการฝึกสอนประจำสัปดาห์ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานใหม่มีโอกาสในการสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรอย่างมีความหมายโดยเร็วที่สุด
  • ให้เป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนกับพนักงานใหม่ โดยอาจเริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่มั่นใจว่าพนักงานใหม่สามารถบรรลุได้ และถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ให้ค่อย ๆ เพิ่มระดับความรับผิดชอบของพวกเขาในแต่ละงาน พนักงานใหม่ที่รู้สึกว่างานของพวกเขาสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรอย่างไรจะมีความมั่นใจและรู้สึกผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น
  • พูดคุยเกี่ยวกับช่องว่างในการเติบโตอย่างเปิดเผยและหาวิธีที่จะเพิ่มความรู้ในทักษะนั้น ๆ โดยในระหว่างการเช็คอินในแต่ละวัน ผู้จัดการอาจแนะนำให้พนักงานใหม่แบ่งปันเกี่ยวกับพื้นที่ที่พวกเขาต้องการเรียนรู้และเติบโตและช่วยพวกเขาในการพัฒนาทักษะเหล่านั้น

Social Onboarding

Social Onboarding เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานใหม่ในเรื่องของการเข้าสังคมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน โดยที่ผู้นำหรือผู้จัดการจะต้อง

  • แนะนำสมาชิกทั้งในและนอกทีมให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งจะรวมไปถึงหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และลูกค้าทั้งภายในและภายนอก เพราะพวกเขาเหล่านี้คือคนที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จ ของพนักงานใหม่
  • กระตุ้นให้พนักงานใหม่ได้ทำความรู้จักกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น การจัดการประชุมแบบ One-on-one สั้น ๆ ระหว่างดื่มกาแฟหรือพักรับประทานอาหารกลางวัน สิ่งนี้จะเป็นโอกาสที่พนักงานใหม่จะได้เรียนรู้และขอคำแนะนำจากพนักงานคนอื่น ๆ และสร้างความสนิทสนมและความไว้วางใจไปพร้อม ๆ กัน

วิธีป้องกันไม่ให้พนักงานใหม่อยากลาออก

แต่นอกเหนือจากการ Onboarding ที่มีประสิทธิภาพแล้ว ผู้นำองค์กรและผู้จัดการยังต้องใช้วิธีอื่น ๆ หลังจากการ Onboarding จบลง เพื่อที่จะรักษาพนักงานใหม่ไว้กับองค์กรไปได้นาน ๆ  เพราะมีอีกหลายสิ่งนอกเหนือจากการ Onboarding ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของพนักงานใหม่ว่าจะอยู่ต่อกับองค์กรหรือไม่ ต่อไปนี้คือวิธีที่ผู้นำองค์กรและผู้จัดการสามารถทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานใหม่รู้สึกอยากลาออก

  1. ช่วยให้พนักงานได้พัฒนาทักษะที่พวกเขาสามารถใช้ได้ในขณะที่กำลังเติบโตในอาชีพการงานและเลื่อนขั้นในบริษัท
  2. แสดงความขอบคุณและชื่นชมยอมรับ (Recognition) ให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
  3. มอบสิทธิพิเศษเพื่อช่วยให้ชีวิตการทำงานของพนักงานง่ายขึ้น เช่น ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นได้
  4. สื่อสารค่านิยมขององค์กรให้พนักงานทราบอย่างชัดเจน และตรวจสอบให้แน่ใจว่านโยบายของคุณสะท้อนถึงค่านิยมเหล่านั้น
  5. เปิดรับ Feedback จากพนักงาน เพื่อให้พวกเขาเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน

การทำให้พนักงานใหม่มีความผูกพันต่อองค์กรและต้องการที่จะอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ จะต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเข้ามาทำงาน เป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรและผู้จัดการที่จะต้องจัดการ Onboarding ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพโดยการให้คำแนะนำต่าง ๆ ทั้งในด้านขององค์กร ด้านทักษะความรู้เชิงเทคนิค และ ด้านสังคมและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน พนักงานใหม่ที่ได้รับการต้อนรับและเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี จะมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นและมีโอกาสที่จะอยู่ต่อกับองค์กรมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

[1] https://hbr.org/2018/12/to-retain-new-hires-spend-more-time-onboarding-them

[2] https://culvercareers.com/blog/retain-new-employees/

[3] https://www.forbes.com/sites/85broads/2013/07/19/how-not-to-lose-your-new-employees-in-their-first-45-days/#315a920e3be3

[4] Photo by Jacqueline Munguía on Unsplash

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!