ผู้จัดการดูแลทีมทำงานแบบ Remote อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบริหารแบบ Micro-understanding

Micro-understanding รูปแบบการบริหารจัดการทีมทำงานแบบ Remote อย่างมีประสิทธิภาพผ่านความวางใจ การมอบหมายงาน และความยืดหยุ่นที่เหมาะสม
ผู้จัดการดูแลทีมทำงานแบบ Remote อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบริหารแบบ Micro-understanding
Photo by Bench Accounting / Unsplash

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจากเดิมที่เคยทำที่ออฟฟิศแล้วเปลี่ยนมาเป็นการทำงานระยะทางไกลหรือการทำงานจากที่บ้าน (WFH) เป็นผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากการเกิดโรคระบาดตั้งแต่ปี 2020 และสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงาน WFH ในปี 2022 นี้ก็คือ การทำงานทางไกลเพิ่มขึ้นมากถึง 159% ตั้งแต่ปี 2009 และมีองค์กรถึง 88% ให้การทำงานทางไกลเป็นการทำงานหลักขององค์กร

แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผู้นำยังไม่พร้อมในการบริหารทีมทางไกล ข้อมูลจากผลการสำรวจของ Harvard พบว่า 40% ของผู้นำยังไม่พร้อมสำหรับการบริหารทีมทางไกล และ 41% พยายามทำให้สมาชิกในทีมที่ทำงานทางไกลรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรและงานที่ทำ และในทางเดียวกัน มีพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านเพียง 40% บอกว่าพวกเขารู้สึกได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าของพวกเขา โดยความคาดหวังของพนักงานเกี่ยวกับวิธีการทำงานร่วมกันของผู้จัดการหรือหัวหน้ากับพวกเขา และพบว่าพนักงานไม่ต้องการให้หัวหน้าทำงานด้วยกันแบบควบคุมหรือลงรายละเอียดมากจนเกินไป หรือที่เรารู้จักกันดีว่าการบริหารงานแบบ Micromanagement แต่พวกเขาอยากให้หัวหน้าเข้าใจให้มากขึ้นหรือที่เรียกว่า Micro-understanding โดย Raghu Krishnamoorthy ได้อธิบายในบทความ HBR ถึงคำว่า Micro-understanding ว่าคืออะไร พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน และกล่าวถึงตัวอย่าง 3 สถานการณ์ที่สำคัญในการใช้ Micro-understanding ในการบริหารทีม นั่นก็คือ การจัดลำดับความสำคัญและการชี้แจงงาน, การแก้ไขปัญหา, และการพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบและแสดงถึงความห่วงใยพนักงาน

ปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าการทำงานทางไกลหรือทำงานจากที่บ้านจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการ WFH 100% หรือการทำงานแบบ Hybrid ที่มีการทำงานทั้งที่ออฟฟิศและที่บ้าน และสิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้จัดการหรือหัวหน้างานกังวลเกี่ยวกับการบริหารทีมเพื่อให้ทุกคนในทีมทำงานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้อย่างดีที่สุด ผู้จัดการหลาย ๆ คนจึงอยากให้สมาชิกกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศด้วยกันอีก แต่นั่นไม่ง่ายเลยเพราะพนักงานจะต่อต้านและบางรายถึงกับจะลาออกเลยทีเดียว

การบริหารแบบ Micro-understanding

Raghu พบว่าพนักงานต้องการทำงานร่วมกันกับผู้จัดการหรือหัวหน้าของพวกเขา โดยอยากให้ผู้จัดการอยู่กับพวกเขา ลงมือปฏิบัติงานจริง และทำงานแบบไม่ก้าวก่าย นั่นก็คือพนักงานไม่ต้องการให้หัวหน้าทำงานด้วยกันแบบ Micromanagement แต่พวกเขาอยากให้หัวหน้าเข้าใจให้มากขึ้นหรือที่เรียกว่า Micro-understanding

Micromanagement มีลักษณะจำกัดที่มีการจัดการที่ยุ่งยาก บ่อนทำลายความไว้วางใจ ไม่ให้อำนาจตัดสินใจในการทำงานแก่สมาชิกในทีม ซึ่งจะมาในรูปแบบการรีวิวงานละเอียดยิบ มีเช็กลิสต์ยาวเหยียด และการอนุมัติงานหลายลำดับชั้น ส่วน Micro-understanding ในที่นี้คือการนำตัวเองเข้าไปรวมอยู่ในเวิร์กโฟล์วการทำงานของทีมและแก้ไขปัญหาแบบทางไกลได้ ผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่บริหารทีมแบบ Micro-understanding สามารถบอกได้ถึงจุดเปราะบางหรือจุดอ่อนของทีม และสามารถสร้างเรดาร์ที่คอยตรวจจับจุดที่มีปัญหาที่เกิดขึ้นภายในทีมได้ ซึ่งการจัดการทีมแบบ Micro-understanding เป็นเรื่องของ

  1. ความไว้ใจ แต่ต้องแน่ใจได้ว่าจะไม่เกิดการกระทบกระทั่งกันแบบที่ไม่ได้คาดคิดไว้
  2. การมอบหมายงาน แต่ต้องอยู่ด้วยเพื่อช่วยให้สมาชิกในทีมทำงานได้โดยไม่สะดุด
  3. ความยืดหยุ่น แต่ต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือนสิ่งผิดปกติเสมอ

การบริหารจัดการทีมที่ทำงานทางไกลแบบ Micro-understanding

ผู้จัดการหรือหัวหน้าต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้จัดการที่เป็นผู้ที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ผู้ที่บังคับให้เกิดขึ้น
    ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในรูปแบบใด แต่บทบาทหน้าที่ของผู้จัดการก็ยังคงเหมือนเดิมคือสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกในทีมและจัดทรัพยากรที่มีเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในขณะที่ สิ่งที่ต้องทำของผู้จัดการยังเหมือนเดิม แต่วิธีการทำนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้จัดการหลายคนยังคงกังวลว่าจะบริหารจัดการทีมอย่างไรเมื่อไม่ได้พบเจอกัน บ่อยครั้งที่การปรากฏตัวหรือการต้องเห็นหน้ากันในขณะทำงานถูกตีความถึงการมี Productivity ในการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูล Productivity ในช่วงที่เกิดโรคระบาดแสดงให้เห็นว่าหลายคนสามารถทำงานมี Productivity ได้โดยไม่ต้องคอยติดตามดูขณะทำงานหรือต้องปรากฏตัวที่ออฟฟิศ
    ในปี 2020 พนักงานเริ่มมองเห็นคุณค่าในบทบาทของผู้จัดการหรือหัวหน้าของตนเองในระหว่างการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ผู้จัดการมีประโยชน์อย่างมากต่อพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้จัดการมุ่งเน้นเรื่องการจัดการผลลัพธ์ของการทำงาน มากไปกว่านั้นพนักงานยังมองเห็นว่าผู้จัดการของพวกเขามีส่วนช่วยให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้เมื่อพวกเขาต้องทำงานจากทางไกล พวกเขาคาดหวังว่าผู้จัดการจะใช้เวลาและพยายามช่วยลดอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร การทำงานร่วมกันในทีม และช่วยโค้ช ตลอดจนไปถึงจัดการประสิทธิภาพการทำงาน
  2. อยู่ในเกมแต่ไม่ต้องลงสนาม
    การบริหารและจัดการทีมจากทางไกลเป็นเรื่องของความสมดุลในการดูแลสมาชิกในทีม โดยถ้าผู้จัดการดูแลจนมากจนเกินไป เข้าไปตรวจสอบ ติดตามงาน และแก้ไขงานตลอดเวลา ก็จะทำให้สมาชิกในทีมรู้สึกถึงการ Micro-management หรือถ้าผู้จัดการไม่ค่อยได้ดูแล ติดตามงาน หรือหายไปเลย ก็จะทำให้สมาชิกในทีมทำงานไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ต่างคนต่างทำส่วนของตน ซึ่งที่กล่าวมาทั้งสองแบบนี้ล้วนแต่ส่งผลเสียต่อ Productivity และขวัญกำลังใจของสมาชิกในทีม ดังนั้นการบริหารจัดการแบบ Micro-understanding จึงเข้ามามีบทบาทที่ผู้จัดการทำหน้าที่เป็นโค้ชที่มีส่วนร่วมในเกมเป็นอย่างมากแต่ไม่ได้ลงไปเล่นในสนามนั่นเอง
    ผู้นำที่อยู่กับพนักงานเสมอสามารถสร้างผลลัพธ์การทำงานได้ดีกว่าและเพิ่มความมีส่วนร่วมของพนักงานในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบเสมือน การแสดงตนหรือการที่อยู่ก้บพนักงานเสมอนี้นำมาซึ่งการเข้าถึงได้ การมองเห็น การให้ความใส่ใจ การติดต่อสอบถามสารทุกข์สุขดิบรายบุคคลเป็นประจำ และการเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญให้พนักงานได้ทำงานของตนเองได้สำเร็จลุล่วง

ตัวอย่างสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้การบริหารแบบ Micro-understanding

สถานการณ์แรก
การจัดลำดับความสำคัญและการชี้แจง
สภาพแวดล้อมการทำงานแบบเสมือนหรือจากทางไกลนี้ สิ่งสำคัญคือการที่สมาชิกในทีมต้องรู้ว่าใครต้องทำงานอะไร และทำให้เสร็จเมื่อไหร่ การบริหารจัดการแบบ Micro-understanding ทำให้เข้าใจว่าการจัดลำดับความสำคัญของงานต้องละเอียดเพียงใดเพื่อให้การทำงานร่วมกันเพื่อผลิตสินค้าให้ทันเวลาและได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้

สถานการณ์ที่สอง
การแก้ไขปัญหา
ในการทำงานแบบทางไกลนี้ การแก้ไขปัญหาจะเกี่ยวข้องกับการเซ็ตระบบการแจ้งเตือนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้และสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทันตามเวลา ซึ่งหมายถึงว่าผู้จัดการต้องพัฒนาความสามารถในการสแกนหาจุดอ่อนและอุปสรรคอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการท่านหนึ่งได้บอกกับสมาชิกในทีมไว้ว่าสามารถเรียกประชุมทีมได้ทุกเมื่อเมื่อพบว่ามีบางสิ่งในงานผิดปกติ โดยเรียกสิ่งนี้ว่า การสั่นระฆังที่หอระฆังหมู่บ้านเมื่อรู้สึกถึงอันตรายที่กำลังเข้ามา อาจจะเป็นปัญหาเล็กที่อาจขยายใหญ่ขึ้นได้ ปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือจากสมาชิกในทีม หรือปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่และต้องได้รับการแก้ไขในทันที สิ่งนี้เป็นความรับผิดชอบของสมาชิกทุกคนที่จะเรียกประชุมทีมและต้องแน่ใจได้ว่าทุกคนที่เข้าประชุมมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หน้าที่ของผู้จัดการก็คือคอยให้ความช่วยเหลือและช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งในสภาพแวดล้อมการทำงานจากทางไกลนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบในการเรียกประชุมเป็นของทุกคนในทีม และสิ่งนี้ช่วยให้ผู้จัดการหรือหัวหน้าทีมได้ถอยกลับมาสังเกตรูปแบบของปัญหาที่ตนต้องดูแลเป็นพิเศษได้

สถานการณ์ที่สาม
การเช็กอินหรือถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและแสดงถึงความห่วงใยสมาชิกในทีม
การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบหรือการเช็กอินกับสมาชิกในทีมเป็นการสร้างความเชื่อใจและความสัมพันธ์ในทีม การทำงานทางไกลนี้จะขาดโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์หรือเชื่อมต่อระหว่างกันอยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องสร้างโอกาสเหล่านี้ขึ้นมาในทีม ขณะที่การเช็กอินเป็นที่นิยมกันอย่างมากในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการระบาดใหญ่ แต่การเช็กอินนี้ก็ได้ถูกลดทั้งความถี่และความสำคัญลงเรื่อย ๆ โดยผู้จัดการมีความรู้สึกเหนื่อยล้ากับการรับฟังหรือการระบายอารมณ์ของสมาชิกในทีม แต่อย่างไรก็ตาม การเช็กอินยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานจากทางไกล เพราะพนักงานเห็นว่าผู้จัดการเป็นตัวเชื่อมระหว่างพวกเขากับองค์กร

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ผู้จัดการต้องคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือในการเยียวยาจิตใจและอารมณ์ของพนักงานเป็นลำดับแรก ๆ ซึ่งผู้จัดการที่ไม่มีทักษะในการดูแลคนนั้นจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าการเช็กอินเป็นการตรวจสอบพวกเขาอยู่ คนที่ไม่เคยแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและทำให้ทีมมีความรู้สึกเหินห่างกัน และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือความยืดหยุ่นแบบปลอม ๆ ตัวอย่างเช่น หัวหน้าถามพนักงานว่าทำไมไม่หยุดช่วงบ่ายวันศุกร์ที่บริษัทเพิ่งออกนโยบายว่าให้หยุดได้ (นโยบายส่งเสริมความยืดหยุ่น) พนักงานบอกว่าหยุดก็ได้แต่หัวหน้าสามารถเลื่อนส่งงานวันจันทร์หน้าให้ได้ไหม หัวหน้าบอกว่าคุณสามารถหยุดได้นะและก็ยังสามารถส่งงานเช้าวันจันทร์ได้ด้วย ซึ่งพนักงานกล่าวว่าสถานการณ์นี้เป็น ความยืดหยุ่นแบบปลอม ๆ

พนักงานรู้สึกชื่นชมความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์หรือสร้างการเชื่อมต่อกันในทีมของผู้จัดการของพวกเขา เช่น การส่งข้อความในช่วงเย็นหาพนักงานว่า เขารู้สึกขอบคุณที่มีพนักงานคนนี้ภายในทีม ซึ่งการทำสิ่งนี้ส่งผลต่อความไว้วางใจมากกว่าขั้นตอนหรือโปรแกรม Recognition ที่เป็นทางการเสียอีก เช่นเดียวกันกับที่พนักงานมีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการถูกบังคับให้เข้าร่วมกิจกรรม แต่พวกเขากลับรู้สึกดีมากกว่ากับการกล่าวถึงความสำเร็จหรืออวยพรวันเกิดของสมาชิกในทีมในตอนต้นของการประชุมทีม ซึ่งการทำให้การทำงานแบบทางไกลให้คนยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนี้ถือได้ว่าเป็นศิลปะสำหรับผู้นำที่นำทีมที่ทำงานทางไกล และสิ่งนี้เป็นวิธีที่ไม่ชัดเจนนักแต่เกิดจากความตั้งใจในการทำให้เกิดขึ้น

Micromanagement เป็นอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางสำหรับพนักงาน แต่ Micro-understanding เป็นทรัพยากรของพนักงาน

ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Micro-understanding นำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการพนักงานที่ทำงานอยู่คนละที่และทำงานจากทางไกล สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้จัดการเรียนรู้ที่จะขับเคลื่อนทีมของตนเองในอีกวิถีหนึ่งที่เหมาะสม


Happily.ai สามารถช่วยเหลือผู้นำและผู้จัดการในการบริหารทีมด้วย Micro-understanding โดยเราจะเป็นเรดาร์ที่คอยตรวจจับจุดเปราะบางหรือจุดที่มีปัญหาที่เกิดขึ้นภายในทีม ด้วยการเช็กอินรายวันด้วย Pulse Survey ที่คอยถามความรู้สึกของพนักงานในทุกวัน ให้และรับ Feedback ในการทำงานผ่าน Peer Feedback และเสริมสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในทีมด้วยการชื่นชมและขอบคุณการทำงานของเพื่อนร่วมทีม เข้าร่วม Community และการทำกิจกรรม Virtual ผ่านแอป สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา

ข้อมูลอ้างอิง:

https://hbr.org/2022/10/what-great-remote-managers-do-differently

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!