Feedback เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทำงาน สามารถมาในรูปแบบของความเห็นสั้น ๆ ต่องานที่ได้รับมอบหมาย หรือการปรึกษาหารืออย่างละเอียดและมีหลักการถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งใดที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ในอนาคต และคำกล่าวที่ว่า Feedback คือของขวัญนั้นมีงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่า Feedback เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของประสิทธิภาพการทำงานและประสิทธิผลของการเป็นผู้นำ รวมไปถึงส่งผลต่อพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่นในบริษัทด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Feedback เชิงลบที่ทำให้เรามองเห็นประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองและเตือนในสิ่งที่เราต้องทำเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตนเอง และแท้ที่จริงแล้วหัวหน้างาน, พนักงาน, หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานจะมองผู้นำที่มีการขอ Feedback เชิงลบ จากผู้อื่นว่าเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าผู้นำที่มองหาแต่ Feedback เชิงบวก
แต่การรับมือและจัดการต่อ Feedback เชิงลบไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะสิ่งนี้อาจทำให้เราพยายามปกป้องตัวเอง มีอารมณ์โกรธ หรือรู้สึกประหม่า ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพการทำงานทั้งสิ้น และยิ่งไปกว่านั้นเราไม่สามารถรับ Feedback ได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งที่ Feedback เชิงลบถูกให้อย่างมีเป้าหมายและมีเจตนาบริสุทธิ์ แต่บางครั้งการให้ Feedback เชิงลบก็ไม่ได้ทำอย่างถูกต้องหรือมีเจตนาที่ดีเสมอไป ตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานที่ต้องการกำจัดเราออกจากโปรเจคงาน หัวหน้าที่คาดหวังในงานที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จสมบูรณ์ได้ พนักงานบางคนที่กลัวที่จะพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจ หรือเพื่อนร่วมงานเสนอประเด็นของตัวเองมาที่เรา ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะรู้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงและอะไรเป็นเรื่องที่ต้องกรองออกไป
มีแหล่งข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการขอ Feedback เชิงลบ แต่มีเพียงเล็กน้อยที่กล่าวถึงข้อแนะนำในการจัดการกับ Feedback เชิงลบ และ Tasha Eurich ได้เสนอ 5 วิธีดำเนินการที่ได้รับการยืนยันทางข้อมูลว่าสามารถช่วยให้คุณรับฟัง Feedback หรือคำติชมอย่างเปิดใจและใจเย็น โดยมุ่งเน้นไปในส่วนที่เป็นข้อมูลสำคัญและมีประโยชน์เพื่อนำไปปรับปรุงตนเองโดยไม่ทำลายความมั่นใจและแนวคิดของตนเอง ไว้ในบทความของ Harvard Business Review ดังนี้
- อย่ารีบร้อนตอบโต้เมื่อได้รับ Feedback
ผู้คนแสดงออกหลากหลายวิธีเมื่อได้รับ Feedback เชิงลบ ตัวอย่างเช่น ทุบโต๊ะ ชกกำแพง กล่าวว่าหัวหน้าให้ Feedback ที่เกินจริง หรือแม้แต่กระทั่งร้องห่มร้องไห้ แต่เมื่อคนเหล่านี้ได้รับการปรับความเข้าใจกับผู้ให้ Feedback แล้วหลังจากที่อารมณ์ในช่วงแรกเร่ิมจางหายไป จะทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้สามารถเข้าใจได้ ข้อมูลจาก William Swann นักจิตวิทยา ได้กล่าวว่าเมื่อมนุษย์เราได้รับ Feedback ที่ขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของตนเอง สิ่งนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกปั่นป่วนและสับสนทางจิตใจและคิดว่ากำลังถูกคุกคามในสิ่งที่เป็นอยู่ และจากงานวิจัยในหนังสือ Insight ของ Tasha พบว่า Feedback เชิงลบช่วยสร้างการพัฒนาเรื่องความตระหนักรู้ในตนเอง หรือ Self-awareness ซึ่งหลาย ๆ คนที่กดดันตัวเองให้ก้าวผ่านอารมณ์และการตอบสนองในทันทีทันใด คนเหล่านี้จะมีความตระหนักรู้ในตนเองสูง และพวกเขาให้เวลาตนเองเป็นวันหรือสัปดาห์ในการฟื้นตัวเองจากการรับ Feedback เชิงลบ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าตัวเองจะทำอะไรต่อไป
มีหลายรายงานกำลังหาวิธีการในการเปลี่ยนมุมมองหรือแนวคิดที่มีต่อ Feedback โดยให้มองเห็นว่าข้อมูลที่ทำให้เรารู้สึกผิดหวังหรือประหลาดใจในมุมมองเชิงลบนั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และมีประสิทธิผล ซึ่งสิ่งนี้นักจิตวิทยาเรียกว่า การประเมินความเข้ารู้ความเข้าใจใหม่ หรือ Cognitive Reappraisal และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอันหนึ่งในการประเมินความรู้ความเข้าใจใหม่คือ การติดป้ายให้อารมณ์ (Affect Labelling) หรือการใส่ความรู้สึกของเราลงไปในคำพูด ตัวอย่างเช่น หลังจากการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน หรือการทำ Critical Performance Review เราสามารถยอมรับความรู้สึกตัวเองและทำได้ง่าย ๆ ด้วยการพูดว่า “ฉันรู้สึกมืดบอดและกลัวนิดหน่อย”
มีอีกเทคนิคหนึ่งเรียกว่า การยืนยันในตัวเอง หรือ Self-affirmation โดยใช้เวลา 2-3 นาทีเพื่อย้ำเตือนตัวเองให้มองแง่มุมที่สำคัญอื่น ๆ ของตนเองนอกเหนือไปจากการถูกคุกคาม โดยสิ่งนี้ช่วยลดความรู้สึกของการถูกคุกคามลงและช่วยให้เราเปิดรับ Feedback เชิงลบได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าทีมของคุณมองว่าคุณเป็นผู้จัดการที่จุกจิก ละเอียด ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมกับทุกขั้นตอนของการทำงานของพวกเขา หรือการบริหารงานที่เรียกว่า Micromanagement คุณอาจจะย้ำเตือนตัวเองว่าคุณเป็นเพื่อนที่คอยให้การสนับสนุนผู้อื่นเสมอ อุทิศตนให้กับชุมชนหรือพ่อแม่อันเป็นที่รักของคุณ และเมื่อมองภาพที่กว้างขึ้นจะช่วยให้เรามอง Feedback ในมุมมองที่เหมาะสม และเมื่อเรามีมุมมองที่เหมาะสมแล้วเราก็จะรู้ว่าเราควรจะตอบสนองกลับ Feedback เหล่านี้อย่างไร - รับข้อมูลเพิ่มเติม
มันอาจจะสับสนที่จะเรียนรู้ผู้คนที่ไม่เห็นเราในแบบที่เราเป็น ดังนั้นการหาข้อมูลเพิ่มเติมนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการตอบสนองต่อ Feedback ที่เราได้รับมา เพราะเมื่อเราไม่เข้าใจ Feedback อย่างแท้จริงแล้วเราก็ย่อมไม่รู้ว่าจะดำเนินการต่อไปกับ Feedback นั้นอย่างไร และไอเดียที่ดีคือลองถามคนที่เราไว้วางใจสักสองสามคนเกี่ยวกับ Feedback ที่เราได้รับมา ว่าพวกเขาเห็นหรือรับรู้ถึงพฤติกรรมของเราที่ตรงกับ Feedback นี้หรือไม่ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่ยังเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลจากความคิดเห็นของคนเพียงคนเดียว ดังคำกล่าวของนักปราชญ์ชาวโรมัน Marcus Aurelius ที่ว่า “สิ่งที่เราได้ยินเป็นเพียงความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง” แล้วใครกันล่ะที่จะเป็นคนที่ให้ข้อมูลเหล่านี้ได้ คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนกลุ่มใหญ่หรือคนที่ทำงานใกล้ชิด หรือคนสนิทกัน อาจเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เราสามารถเชื่อใจได้ว่าพวกเขาจะบอกความจริงกับเราเสมอ และในบางครั้งคนที่รู้จักเราน้อยที่สุดอาจจะเป็นคนที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากที่สุดกับเราก็ได้เช่นกัน - ค้นหาสิ่งที่สามารถสร้างการรับรู้ในการเปลี่ยนหรือปรับปรุงพฤติกรรม
แม้ว่าเราจะปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่างตาม Feedback ที่ได้รับมาแล้วแต่ก็ใช่ว่าคนรอบข้างเราจะมองเห็น อย่างที่ Marshall Goldsmith โค้ชฝึกสอนความเป็นผู้นำได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของเรานั้นทำได้ยากกว่าการเปลี่ยนตัวพฤติกรรมเองเสียอีก และหากว่าเราทุ่มเทปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองตาม Feedback แล้วแต่เพื่อนร่วมงานที่ให้ Feedback นั้นกลับไม่สังเกตเห็น ก็อาจทำให้เราท้อใจได้ ดังนั้นเราอาจต้องมองหาวิธีการที่ทำให้ผู้ให้ Feedback มองเห็นและรับรู้ถึงการปรับปรุงพฤติกรรมของเรา ตัวอย่างเช่น พอลเป็นหัวหน้าส่วนงานด้านรังสีวิทยา และลูกน้องของพอลรู้สึกไม่มีกำลังใจในการทำงาน และ Feedback จากลูกน้องของเขากล่าวว่า พอลดูเหมือนไม่ได้เข้าใจหรือใส่ใจปัญหาที่เกิดขึ้นรายวันของพวกเขาเลย เช่นพวกเขาแจ้งพอลไปแล้วว่าตัวหยุดประตูมันเสีย และพวกเขาทำงานกันไม่สะดวกเลยเวลาต้องขนส่งคนไข้มาที่แผนก แต่เมื่อผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ ประตูก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย ซึ่งเมื่อพอลได้รับรู้ Feedback นี้มาก ๆ เข้า เขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าพนักงานไม่ได้มองส่วนอื่นเลยที่เขากำลังพยายามคิดกลยุทธ์ในระยะยาวในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีม และก่อนที่พอลจะเริ่มใช้กลยุทธ์เหล่านั้นเป็นการดีที่เขาจะเริ่มจาก Feedback ที่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กนี้ก่อน โดยที่พอลเลือกช่วงเวลาที่มีผู้คนพลุกพล่านและเขานำเครื่องมือไปเปลี่ยนตัวหยุดประตูด้วยตัวเอง จากนั้นลูกทีมของพอลได้สังเกตเห็นสิ่งที่พอลทำและชื่นชมขั้นตอนเชิงสัญลักษณ์นี้ในทันที และสิ่งนี้ทำให้พอลมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่เขาจะทำได้ง่ายขึ้นมาก - อย่าเป็นคนที่ทนทุกข์เพียงลำพัง
การได้รับ Feedback เชิงลบเป็นหนึ่งแบบทดสอบในการแยกตัวเพราะความรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจในขณะนั้น งานวิจัยของ Francesca Gino, Paul Green, และ Brad Staats พบว่าเรามักจะหลีกเลี่ยงผู้คนหลังจากคนเหล่านี้ให้ Feedback เชิงลบกับเรา และในขณะที่มันง่ายมากที่จะมองว่าตัวเราเป็นฝ่ายถูกรุกรานในที่ทำงานและรู้สึกเสียใจ การพยายามที่จะแยกตัวออกจากคนที่ให้ Feedback กับเราเป็นแนวคิดที่ผิดอย่างยิ่ง โดยพบว่าคนที่มีประสบการณ์เช่นนี้จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง โดยในโปรแกรมฝึกสอนผู้นำของ Marshall Goldsmith และ Howard Morgan พบว่าผู้นำที่มีการสนทนากับเพื่อนร่วมงานอย่างต่อเนื่องมีการปรับปรุงพัฒนาตนเองเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้นำที่ไม่ทำเช่นนี้
ในส่วนของ Feedback เชิงลบนี้สามารถเป็นคำกล่าวอ้างที่ดีที่สุดในการรีเซ็ตความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ได้ เพราะว่าการให้ Feedback เชิงลบในแนวทางที่ถูกต้องนั้นสามารถทำให้คนที่ให้ Feedback เชิงลบแก่เรามาก ๆ กลายมาเป็นบุคคลตัวยงที่คอยสนับสนุนและส่งเสริมความสำเร็จของเรา - จำไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงหนึ่งทางเลือก
คนที่ประสบความสำเร็จและมีความทะเยอทะยานส่วนใหญ่อาจเชื่อว่าพวกเขาควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ทำให้พวกเขามีข้อจำกัดในการประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับจุดอ่อนของเราไม่ได้ชัดเจนเสมอไป บางครั้ง Feedback ที่ได้รับมาสามารถส่องให้เห็นถึงความบกพร่องที่สะสมและทำให้เป็นเรา
บางครั้งการตอบสนองที่ดีที่สุดต่อ Feedback เชิงลบก็คือการยอมรับข้อบกพร่องของตนเองและผู้อื่นในขณะที่ตั้งความคาดหวังว่าเราจะทำตัวอย่างไร เมื่อเราปล่อยวางกับสิ่งที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งนี้จะทำให้เรามีพลังงานเหลือพอที่จะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราสามารถทำได้
บทสรุป
Feedback มีทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบ และเมื่อทุกคนนึกถึง Feedback มักจะนึกถึงภาพในเชิงลบกันก่อนเสมอ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Feedback เชิงลบนี้มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่บ่อยครั้งที่เมื่อเราได้รับ Feedback เชิงลบแล้วเราเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี รู้สึกสูญเสียความมั่นใจและแนวคิดของตนเอง แต่ถ้าเราสามารถรับมือและจัดการกับ Feedback เชิงลบเหล่านี้ได้อย่างเปิดใจและใจเย็น และหาข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้งานเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยที่เราควรอย่ารีบร้อนตอบโต้เมื่อได้รับ Feedback, ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลาย ๆ คนที่เราไว้ใจ, ค้นหาสิ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนหรือปรับปรุงพฤติกรรมของเรา, ไม่แยกตัวเองออกห่างคนที่ให้ Feedback เชิงลบ, และยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง สิ่งนี้ส่งผลต่อทั้งการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เพิ่มมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง ที่มีส่วนช่วยให้มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จได้ เรามาลองทำให้ Feedback เชิงลบเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนประสิทธิภาพการทำงานของเรากัน!
บทความที่เกี่ยวข้องจาก Happily.ai
- ฟีดแบ็กช่วยให้พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้นจริงเหรอ
- แหล่งที่มาของฟีดแบ็กที่น่าประหลาดใจ
- วัดผลการมีส่วนร่วมต่อองค์กรของพนักงาน และค้นหาพนักงานที่มีผลการทำงานที่โดดเด่นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย "การให้ฟีดแบ็ก"
- เสริมสร้างทัศนคติแห่งการเติบโต ด้วยการริเริ่มวัฒนธรรมแห่งการให้ฟีดแบ็กในองค์กรของคุณ
Cover photo credit: Hidden photo created by rawpixel.com - www.freepik.com