ความฉลาดทางอารมณ์ - สิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องมี

Daniel Goleman กล่าวว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นก็คือ ผู้นำเหล่านี้มี “ความฉลาดทางอารมณ์” สูง ซึ่งสิ่งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการมี IQ หรือมีทักษะทางด้านเทคนิคที่สูงเลย
ความฉลาดทางอารมณ์ - สิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องมี

ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) กับประสิทธิภาพของผู้นำ

องค์กรต้องการพนักงานที่เป็นกำลังสำคัญเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปได้แม้ในช่วงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และองค์กรที่มีพนักงานที่มีความเป็นผู้นำสามารถประสบความสำเร็จได้แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จากข้อค้นพบจากงานวิจัยของทีมทำงานที่ Deloitte ได้แก่ Adam Canwell, Vishalli Dongrie, Neil Neveras และ Heather Stockton พบว่ามีเพียง 13% ของผู้นำและผู้บริหารขององค์กรที่สามารถทำงานได้ดีเยี่ยมในการพัฒนาพนักงานในทุกระดับให้มีความเป็นผู้นำ ส่ิงนี้หมายถึงว่ายังมีช่องว่างขนาดใหญ่ของความพร้อมในด้านนี้อยู่ ดังนั้นหลาย ๆ องค์กรจึงหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาความเป็นผู้นำให้พนักงานด้วยการจัดการอบรมและพัฒนาทั้งในด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ แต่ทักษะที่กล่าวมานี้ยังไม่เพียงพอ จากบทความของ Harvard Business Review ที่กล่าวถึงเรื่อง “What makes a leader?” ของ Daniel Goleman กล่าวว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นก็คือ ผู้นำเหล่านี้มี “ความฉลาดทางอารมณ์” สูง ซึ่งสิ่งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการมี IQ หรือมีทักษะทางด้านเทคนิคที่สูงเลย โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่โดดเด่นกับคนอื่นทั่วไปที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำระดับสูง พบว่าเกือบ 90% ของความแตกต่างในโปรไฟล์ของพวกเขานั้นเกิดจากความฉลาดอารมณ์มากกว่าความสามารถทางสติปัญญา และยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ยืนยันว่าความฉลาดทางอารมณ์นั้นไม่เพียงแต่ทำให้ผู้นำโดดเด่นเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงประสิทธิภาพการทำงานที่แข็งแกร่งได้อีกด้วย ผลงานวิจัยของ David McClelland นักวิจัยที่มีชื่อเสียงในด้านพฤติกรรมมนุษย์และองค์กร เขาได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้จัดการอาวุโสของบริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกในปี 2539 โดย McClelland พบว่าเมื่อผู้จัดการอาวุโสมีความสามารถด้านความฉลาดทางอารมณ์อย่างมาก หน่วยงานของพวกเขาจะทำผลงานได้ดีกว่าเป้าหมายรายได้ประจำปีมากถึง 20% ในขณะเดียวกันที่หัวหน้าแผนกที่ไม่มีความสามารถด้านความฉลาดทางอารมณ์นั้นมีประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์

องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

นอกจากนี้ Daniel และเพื่อนของเขายังศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และการทำงานที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้นำ พวกเขาทำการสังเกตการแสดงอารมณ์และใช้ความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงาน แล้วบ่งชี้ได้ว่าคนนี้มีความฉลาดทางอารมณ์สูง ตัวอย่างเช่น คุณสามารถรับรู้ความฉลาดทางอารมณ์ในตัวคุณอย่างไร โดยได้แบ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ในที่ทำงานเป็น 5 องค์ประกอบ ได้แก่ Self-awareness หรือ การตระหนักรู้ในตนเอง, Self-regulation หรือ การควบคุมตนเอง, Motivation หรือ แรงบันดาลใจ, Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจ, และ Social Skill หรือ ทักษะการเข้าสังคม

  • ความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness)
    คือความสามารถในการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และแรงขับเคลื่อนของตนเอง และเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร
    โดยจะมีลักษณะเด่น ดังนี้ มีความมั่นใจในตนเอง, ประเมินตนเองตามความเป็นจริง, มีอารมณ์ขันเชิงล้อเลียนตนเอง
  • การควบคุมตนเอง (Self-regulation)
    คือความสามารถในการควบคุมหรือเปลี่ยนสิ่งกระตุ้นหรืออารมณ์ที่ทำให้เกิดความก้าวร้าว หรือความโน้มเอียงที่จะทำให้เลื่อนหรือยกเลิกการตัดสินใจชั่วคราว - การคิดก่อนทำ
    โดยจะมีลักษณะเด่น ดังนี้ มีความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์, ไม่รู้สึกอึดอัดกับความไม่ชัดเจน, เปิดใจต่อการเปลี่ยนแปลง
  • แรงบันดาลใจ (Motivation)
    คือความชอบในงานที่มีเหตุผลมากกว่าเรื่องเงินหรือสถานะทางสังคม หรือความโน้มเอียงที่จะทำตามเป้าหมายให้สำเร็จด้วยพลังและความสม่ำเสมอ
    โดยจะมีลักษณะเด่น ดังนี้ มีแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ, มองโลกในแง่ดีแม้ว่าจะเจอกับความล้มเหลว, มีความมุ่งมั่นต่อองค์กร
  • ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy)
    คือความสามารถในการเข้าใจการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้อื่น หรือทักษะในการปฏิบัติต่อผู้อื่นตามการตอบสนองกลับทางอารมณ์ของคนเหล่านี้
    โดยจะมีลักษณะเด่น ดังนี้ มีความชำนาญในการสร้างและรักษา Talent ในองค์กร, มีความรู้สึกไวเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างสังคม, มีใจให้บริการลูกค้า
  • ทักษะการเข้าสังคม (Social Skill)
    คือความเชี่ยวชาญในการจัดการความสัมพันธ์และสร้างเครือข่าย หรือความสามารถในการหาข้อตกลงร่วมกันและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
    โดยจะมีลักษณะเด่น ดังนี้ มีประสิทธิภาพในการนำการเปลี่ยนแปลง, มีความสามารถในการโน้มน้าวชักจูงจิตใจ, มีความชำนาญในการสร้างและนำทีม

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ ดังนั้นการที่องค์กรจะสนับสนุนให้พนักงานมีทักษะความเป็นผู้นำ หรือส่งเสริมผู้นำในทุกระดับขององค์กรให้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้นควรให้ความสนใจกับความสามารถด้านความฉลาดทางอารมณ์ แล้วความฉลาดทางอารมณ์สามารถเรียนรู้ได้หรือไม่?

คำตอบคือ ได้

ผู้คนต่างมีข้อถกเถียงมานานว่าจริง ๆ แล้วภาวะผู้นำนั้นติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรือสามารถสร้างขึ้นได้ซึ่งก็เช่นเดียวกับเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีองค์ประกอบทางพันธุกรรมของความฉลาดทางอารมณ์ และงานวิจัยทางจิตวิทยาและพัฒนาการบ่งชี้ว่าการเลี้ยงดูก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ความฉลาดทางอารมณ์จะเพิ่มขึ้นตามอายุ หรือที่เราเรียกกันว่า “วุฒิภาวะ” ถึงแม้ว่าจะมีวุฒิภาวะแล้วแต่บางคนยังคงต้องการการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์อยู่ น่าเสียดายที่โปรแกรมการฝึกอบรมจำนวนมากที่มุ่งสร้างทักษะความเป็นผู้นำซึ่งรวมถึงความฉลาดทางอารมณ์ เป็นการเสียเวลาและเงินไปเปล่า ๆ นั่นก็เพราะว่าโปรแกรมการฝึกอบรมเหล่านี้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนของสมองที่ไม่ถูกต้อง

ความฉลาดทางอารมณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสารสื่อประสาทของระบบลิมบิก (Limbic system) ของสมอง ซึ่งควบคุมความรู้สึก แรงกระตุ้น และแรงผลักดัน การวิจัยระบุว่าระบบลิมบิกเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านแรงจูงใจ การฝึกปฏิบัติเพิ่มเติม และผลตอบสนองกลับ เปรียบเทียบกับชนิดของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในนีโอคอร์เทกซ์ (Neocortex) ซึ่งควบคุมความสามารถในการวิเคราะห์และความสามารถทางเทคนิค นีโอคอร์เท็กซ์เข้าใจแนวคิดและตรรกะ ตัวอย่างเช่น สมองที่คิดวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ ไม่แปลกใจเลยที่โปรแกรมการฝึกอบรมทักษะความเป็นผู้นำซึ่งรวมไปถึงความฉลาดทางอารมณ์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสมองส่วนนีโอคอร์เทกซ์นี้ซึ่งเป็นข้อผิดพลาด จากงานวิจัยของ Daniel ร่วมกับ Consortium for Research on Emotional Intelligence in Organizations ได้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมเหล่านี้สามารถส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้คนได้ เพื่อส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมที่รวมการพัฒนาสมองในระบบลิมบิกเข้าไปด้วย องค์กรต้องช่วยให้พนักงานหยุดพฤติกรรมเก่าและสร้างพฤติกรรมใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าโปรแกรมการฝึกอบรมทั่วไปและต้องใช้แนวทางเฉพาะบุคคลด้วย

ลองคิดดูว่าถ้ามีผู้บริหารคนหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าเธอมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นต่ำ โดยส่วนที่ขาดหายไปของผู้บริหารคนนี้ที่แสดงออกมาก็คือการขาดความสามารถในการรับฟัง เธอขัดจังหวะผู้อื่นและไม่สนใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้บริหารคนนี้ต้องมีแรงจูงใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและเธอก็ต้องฝึกฝนและรับฟีดแบ็ก (Feedback) จากผู้อื่นด้วย ทั้งโค้ชและเพื่อนร่วมงานสามารถทักท้วงได้เมื่อพบว่าผู้บริหารคนนี้ไม่รับฟัง จากนั้นให้เธอปรับปรุงโดยอยู่ในสถานการณ์เดิมอีกครั้งและรับฟังซึบซับสิ่งที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่ และอีกเทคนิคหนึ่งคือให้ผู้บริหารคนนี้สังเกตพฤติกรรมของผู้บริหารคนอื่นที่มีทักษะการฟังที่ดีและเลียนแบบพฤติกรรมนั้น ด้วยความพากเพียรพยายามและการฝึกฝน กระบวนการดังกล่าวสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้

สิ่งสำคัญคือต้องเน้นว่าการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ของตัวเองจะไม่สามารถทำได้หรือจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีความตั้งใจอย่างจริงจังและความพยายาม การเข้าร่วมสัมมนาสั้น ๆ ไม่ได้ช่วยอะไร และไม่มีคู่มือวิธีการที่หาซื้อได้ ความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องยากมากที่จะเรียนรู้ เพราะความเห็นอกเห็นใจเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติต่อผู้คน เช่นเดียวกันกับที่ Ralph Waldo Emerson เขียนไว้ว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ประสบความสำเร็จได้หากปราศจากความกระตือรือร้น” ถ้าเป้าหมายของคุณคือการเป็นผู้นำที่แท้จริงแล้วนั้น คำกล่าวนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในระดับสูงได้

รู้ได้อย่างไรว่าเรามีความฉลาดทางอารมณ์ในที่ทำงาน

จากที่ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ในที่ทำงานข้างต้น เราสามารถพัฒนาความสามารถในด้านนี้ด้วยการฝึกฝนตนเองให้มีคุณลักษณะดังกล่าว แต่บางครั้งเราก็ยังคงสงสัยว่าเรามีครบทั้งห้าองค์ประกอบหรือยัง เราลองมาสำรวจตนเองเบื้องต้นว่าเรามีลักษณะใดบ้างที่สอดคล้องกับแต่ละองค์ประกอบ

Self-awareness - การตระหนักรู้ในตนเอง

  1. คุณสามารถรับรู้อารมณ์ของตนเองได้ดี มักเป็นคนที่ตรงไปตรงมาและจริงใจ
  2. คุณกล้าเปิดเผยถึงสภาพอารมณ์ของตนเองและยอมรับผิดถ้าตนแสดงออกไม่เหมาะสม
  3. คุณรู้จักเลือกจุดเด่นของตนมาใช้ในการทำงานได้อย่างเต็มที่

Self-regulation - การควบคุมตนเอง

  1. คุณมีความสุขุมแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียด หรือภาวะที่มีแรงกดดัน
  2. คุณมีวิธีการในการจัดการกับภาวะสับสนทางอารมณ์ตลอดจนภาวะกดดันภายในตนเองได้ดี
  3. คุณไม่แสดงอารมณ์เสียง่ายเมื่อต้องประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่รบกวนจิตใจในการทำงาน

Motivation - แรงบันดาลใจ

  1. คุณ​​มีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย มีการวางระบบงานได้อย่างรอบคอบรัดกุม
  2. คุณกระตือรือร้นในการใฝ่เรียนรู้เพื่อหาเครื่องมือและวิธีการให้มีความรู้ ความสามารถเพื่อยกระดับคุณภาพของงานและองค์กร
  3. คุณรู้จักมองสถานการณ์ให้เห็นช่องทางที่เป็นโอกาสมากกว่าจะมองว่าเป็นภัยคุกคาม

Empathy - ความเห็นอกเห็นใจ

  1. คุณเปิดใจรับรู้ความรู้สึกและความตั้งใจที่หลากหลายและแตกต่างของเพื่อนร่วมงานแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา
  2. คุณสามารถอ่านและสังเกตธรรมชาตินิสัยของเพื่อนร่วมงานที่มีพื้นเพและวัฒนธรรมแตกต่างกัน
  3. คุณรับรู้ รับฟัง ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรด้วยความจริงใจกับเพื่อนร่วมงานโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

Social Skill - ทักษะการเข้าสังคม

  1. คุณมีเครือข่ายคนรู้จักมากมายทั้งในทีม ในองค์กร และนอกองค์กรที่พร้อมจะให้การสนับสนุนเมื่อคุณลงมือทำอะไรสักอย่าง
  2. คุณสามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยสามารถหาจุดร่วมกับคนทุกประเภทได้
  3. คุณสามารถโน้มน้าวจิตใจให้เพื่อนร่วมงานร่วมดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทีมหรือองค์กรได้เป็นอย่างดี

บทสรุป

ความฉลาดทางอารมณ์มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อการเป็นผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากมาย องค์กรที่อยากพัฒนาพนักงานในทุกระดับให้มีภาวะความเป็นผู้นำจึงควรส่งเสริมเรื่องความสามารถด้านความฉลาดทางอารมณ์ให้มากขึ้น รวมถึงผู้นำในองค์กรเองควรให้ความสำคัญและพัฒนาความสามารถทางด้านนี้ด้วย และเป็นข่าวดีที่ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ดังนั้นเราต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ โดยหมั่นฝึกฝนสังเกตตนเอง เพื่อนร่วมงาน และคนรอบข้างเรา ทำความเข้าใจบริบทและตอบสนองสิ่งนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ ช่วยให้เราสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ระดับสูง เป็นผู้นำที่ครองใจคนในองค์กรได้ และสิ่งนี้สามารถนำพาองค์กรให้ก้าวหน้าเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง

[1] https://hbr.org/2004/01/what-makes-a-leader

[2] https://www.forbes.com/sites/rogertrapp/2014/03/23/organizations-need-leaders-at-all-levels/?sh=43b8374c3ab1

[3] วิชญพงศ์ ไชยธิกุลโรจน์ , ทิพย์พาพร มหาสินไพศาล , และ ทิวัตถ์ มณีโชติ, “ผู้บริหารสถานศึกษากับการพัฒนาตัวบ่งชี้ความฉลาดทางอารมณ์และสังคม - School Administrators and Development of Indicators on Emotional Intelligence and Social Intelligence”, วารสารการวัด ประเมินผล สถิติ และการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2564)

[4] Hand photo created by Racool_studio - www.freepik.com

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!