Psychological Safety: กุญแจสำคัญในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

สำหรับผู้นำที่ต้องการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ผู้นำจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าสมาชิกในทีมของตนมีความปลอดภัยทางจิตใจ
Psychological Safety: กุญแจสำคัญในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

จากการศึกษาผลการทำงานของทีมด้านเทคโนโลยีของ Google แสดงให้เห็นว่าทีมที่มีประสิทธิภาพสูงมี 5 สิ่งที่เหมือนกัน และ 5 สิ่งนี้คือปัจจัยหลักของความสำเร็จในการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ประกอบไปด้วย ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ความไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างกัน (Dependability) โครงสร้างและแผนการทำงานที่ชัดเจน (Structure & Clarity) ความหมายของงาน (Meaning of Work) และ ผลลัพธ์ของงานที่มีพลัง (Impact of Work) และมากไปกว่านั้น การศึกษานี้ยังได้ชี้ชัดว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดและยังเป็นพื้นฐานที่ส่งผลให้ปัจจัยอื่น ๆ ประสบความสำเร็จได้นั้นคือ ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าความเชื่อที่ว่าคุณจะไม่ถูกลงโทษเมื่อทำผิดพลาด

เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มักหลีกเลี่ยงการแสดงพฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อวิธีที่ผู้อื่นมองถึงความสามารถและความตระหนักรู้ของเรา แต่กลไกลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้ส่งผลเสียต่อการทำงานเป็นทีมเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสมาชิกในทีมรู้สึกไม่ปลอดภัยทางจิตใจ พวกเขาจะมีความกังวลหรือหวั่นวิตกเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นในที่ทำงาน และมักจะไม่กล้านำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เนื่องจากกลัวว่าความคิดเห็นของพวกเขาจะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ หรือถ้านำเสนอไปแล้วอาจจะทำให้ตนเองต้องรู้สึกอับอาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการทำงานเป็นทีม ในทางกลับกัน คนที่มีความปลอดภัยทางจิตใจมักจะรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันข้อเสนอแนะ ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือท้าทายสภาพที่เป็นอยู่โดยไม่กังวลถึงคำวิจารณ์หรือผลกระทบทางสังคมในเชิงลบ ความปลอดภัยทางจิตใจจะนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่รวดเร็วและส่งผลให้องค์กรสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีมากยิ่งขึ้น

บรรยากาศในเชิงบวกของทีมและความปลอดภัยทางจิตใจ

การศึกษาของ McKinsey พบว่าบรรยากาศในเชิงบวกของทีม (Positive Team Climate) ซึ่งมีสมาชิกในทีมที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของกันและกัน แสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน และเข้าใจในบทบาทของสมาชิกแต่ละคนในการทำงานของทีม เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจ และสิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้นำแสดงพฤติกรรมที่สนับสนุนคนในทีมและให้คำปรึกษากับพวกเขา ผู้นำสามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจด้วยการสร้างบรรยากาศและพฤติกรรมที่เหมาะสมภายในทีมของตน

การศึกษายังพบว่ามีพฤติกรรมความเป็นผู้นำอย่างหนึ่งที่สามารถเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจได้ก็ต่อเมื่อมีบรรยากาศในเชิงบวกของทีมเท่านั้น นั่นก็คือ ภาวะผู้นำที่ท้าทาย (Challenging Leadership) ผู้นำที่ท้าทายจะผลักดันให้สมาชิกในทีมท้าทายความสามารถของตนเองโดยการส่งเสริมให้พวกเขาทบทวนความคิดเห็นที่มีต่องานของพวกเขาอีกครั้งและหาวิธีดำเนินการเพื่อให้ผลงานออกมาเกินความคาดหมายและบรรลุศักยภาพของตนเอง ภาวะผู้นำที่ท้าทายนั้นจะช่วยให้พนักงานแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ รู้สึกมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง และพยายามเรียนรู้และปรับปรุงตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ความปลอดภัยทางจิตใจจะเกิดขึ้นสูงสุดนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อหัวหน้าทีมสร้างบรรยากาศในเชิงบวกให้กับทีมเป็นอย่างแรก โดยผ่านการสนับสนุนและให้คำปรึกษาสมาชิกในทีม และหลังจากนั้นจึงเริ่มมอบหมายงานที่มีความท้าทายให้สมาชิกในทีม หากปราศจากรากฐานของบรรยากาศเชิงบวกของทีม การเป็นผู้นำที่ท้าทายก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางจิตใจเท่าที่ควร

ผู้นำสร้างความปลอดภัยทางจิตใจได้อย่างไร

จะเห็นได้ว่าผู้นำมีบทบาทที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสร้างบรรยากาศในเชิงบวกให้กับทีม หรือการเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจเพื่อผลักดันให้ทีมของตนเป็นทีมที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพสูง และนี่คือข้อแนะนำสำหรับผู้นำในการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้กับสมาชิกในทีม

1. แสดงให้เห็นถึงความสนใจและใส่ใจสมาชิกในทีม

ผู้นำควรเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้ฟังที่ดีเมื่อสมาชิกในทีมกำลังนำเสนอในสิ่งต่าง ๆ โดยการฟังอย่างตั้งใจ ไม่เปิดคอมพิวเตอร์หรือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาระหว่างการประชุม และถามคำถามด้วยความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากสมาชิกในทีม

2. แสดงความเข้าใจแทนการตำหนิ

เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นผู้นำจะต้องพูดถึงพฤติกรรมหรือสิ่งที่เป็นปัญหาด้วยการใช้ภาษาที่เป็นกลาง การตำหนิจะทำให้เกิดความขัดแย้งในทีมมากยิ่งขึ้น ผู้นำควรจะมุ่งเน้นไปที่วิธีในการแก้ไขปัญหาแทนที่จะตำหนิหรือกล่าวโทษสมาชิกในทีม

3. เป็นผู้นำแบบครอบคลุมและเข้าถึงได้

ผู้นำควรทำให้สมาชิกในทีมรู้สึกมีส่วนร่วมในทุก ๆ ด้านของการทำงานโดยการแชร์ข้อมูลและการตัดสินใจในการทำงานอย่างเปิดเผย ให้เวลาสำหรับการสนทนาแบบตัวต่อตัว ขอฟีดแบ็กจากสมาชิกในทีม และให้คำปรึกษากับพวกเขา

4. แสดงความมั่นใจ

สมาชิกในทีมจะมีความมั่นใจในงานของพวกเขาก็ต่อเมื่อมีผู้นำทีมที่แสดงความมั่นใจก่อนเพราะผู้นำคือตัวแทนของทีม อย่างไรก็ตาม การแสดงความมั่นใจไม่ใช่การยึดความคิดของตนเป็นหลัก ผู้นำควรเปิดรับความคิดเห็นของสมาชิกในทีมและสนับสนุนให้พวกเขากล้าที่จะท้าทายและยอมรับความเสี่ยงอย่างมั่นใจ

5. ประเมินความปลอดภัยทางจิตใจของสมาชิกในทีม

ผู้นำจะต้องถามสมาชิกในทีมอย่างสม่ำเสมอว่าพวกเขารู้สึกปลอดภัยในการทำงานมากแค่ไหน และอะไรจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการให้สมาชิกในทีมทำแบบสำรวจความปลอดภัยทางจิตใจที่มีคำถามเช่น “คุณมั่นใจแค่ไหนว่าคุณจะไม่ได้รับการตอบโต้หรือวิพากษ์วิจารณ์หากคุณทำผิดพลาด”

สำหรับผู้นำที่ต้องการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง ผู้นำจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าสมาชิกในทีมของตนมีความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผลักดันให้สมาชิกในทีมมีส่วมร่วมในการทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น มีแรงจูงใจในการจัดการกับปัญหาที่พบเจอ และเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของพวกเขา ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และความก้าวหน้าขององค์กร

happily.ai

เอกสารอ้างอิง

[1] https://rework.withgoogle.com/blog/five-keys-to-a-successful-google-team/

[2] https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190703-psychological-safety/

[3] https://hbr.org/2017/08/high-performing-teams-need-psychological-safety-heres-how-to-create-it

[4] https://www.forbes.com/sites/googlecloud/2021/08/27/safe-space-how-psychological-safety-can-make-your-team-more-effective/?sh=441ec08a4231

[5] https://www.linkedin.com/posts/amedmondson_psychologicalsafety-activity-6902237907868884992-XGtV

[6] https://www.mckinsey.com/business-functions/people-and-organizational-performance/our-insights/psychological-safety-and-the-critical-role-of-leadership-development

[7] Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash

Subscribe to Smiles at Work | The Official Happily.ai Blog newsletter and stay updated.

Don't miss anything. Get all the latest posts delivered straight to your inbox. It's free!
Great! Check your inbox and click the link to confirm your subscription.
Error! Please enter a valid email address!